เกี่ยวกับเรา
ระบบเตือนภัยด้านแรงงานได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 2552 โดยกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute: TDRI) ดำเนินการศึกษาและพัฒนาระบบเตือนภัยด้านแรงงานระยะแรก แม้ว่าระบบจะสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและแรงงานของประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ด้วยสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจ้างงานในแต่สาขาอุตสาหกรรมและมีสาขาอุตสาหกรรมใหม่เกิดขึ้น ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบเตือนภัยด้านแรงงานนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2561 กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค.) ดำเนินปรับปรุงระบบเดิมที่มีอยู่และพัฒนาเครื่องมือเพิ่มเติมในระบบ เพื่อให้การวิเคราะห์ในระบบมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และเพิ่มเติมมิติการวิเคราะห์ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้ง สามารถเป็นเครื่องมือประกอบการกำหนดนโยบายทางด้านแรงงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับระบบเตือนภัยที่ปรับปรุงและพัฒนาในปี 2561 นี้ ประกอบด้วยการวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจแรงงาน 3 ส่วน ได้แก่ (1) การเตือนภัยวิกฤตด้านแรงงาน เป็นการวิเคราะห์การแจ้งเตือนและโอกาสเกิดวิกฤตด้านแรงงานภายใน 12 เดือนข้างหน้า สำหรับการจ้างงาน การว่างงาน และการเลิกจ้าง (2) การคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต เป็นการคาดการณ์ภาวะตลาดแรงงานด้านการจ้างงาน การว่างงาน การเลิกจ้าง และการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ และ (3) ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันทางด้านเศรษฐกิจแรงงาน เป็นการรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดด้านแรงงานจากหน่วยงานต่าง ๆ